กระดาษที่ใช้ผลิตสิ่งพิมพ์

กระดาษที่ใช้ในการผลิตสิ่งพิมพ์ (ในโรงพิมพ์)

กระดาษกล่อง (Box paper)เป็นกระดาษเคลือบผิวมัน จะเรียก กระดาษกล่องแป้ง น้ำหนักกระดาษกล่องอยู่ระหว่าง 180 – 600 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์
กระดาษกันปลอม (Security paper)  เป็นกระดาษที่จัดทำขึ้นพิเศษ สำหรับป้องกันการปลอมแปลง ใช้ทำสิ่งพิมพ์ที่ต้องการไม่ให้มีการเลียนแบบ และสามารถตรวจสอบได้ เช่น ธนบัตร
กระดาษการ์ด (Card board)  เป็นกระดาษที่มีความหนาและแข็งแรงประกอบด้วยชั้นของกระดาษหลายชั้น ชั้นนอกสองด้านมักเป็นสีขาว แต่ก็มีการ์ดสีต่าง ๆ ให้เลือกใช้ ความหนาการ์ดอยู่ระหว่าง 110 – 400 แกรม ใช้ทำปกหนังสือ บรรจุภัณฑ์
กระดาษถนอมสายตา (Green read paper)  เป็นกระดาษไม่เคลือบผิว บางที่มีสีออกนวลเหลืองช่วยถนอมสายตา สมัยนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในการทำเป็นหนังสือ
กระดาษแบงก์ (Bank Paper)  เป็นกระดาษบางที่ไม่เคลือบผิว ความหนาที่นิยมใช้คือ 55,70 และ 80 แกรม มีสีให้เลือกหลายสี ใช้สำหรับงานพิมพ์แบบฟอร์ม บิลใบเสร็จรับเงิน ที่มีสำเนาหลายชั้น
กระดาษปรู๊ฟ (Newsprint)  กระดาษปรู๊ฟมีความหนาประมาณ 40 – 55 แกรม มีสีเทาอมน้ำตาล เป็นกระดาษที่ี่มีราคาถูกแต่จุดด้อยก็คือ มีความแข็งแรงน้อย นิยมใช้สำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่ไม่ต้องการคุณภาพมาก ที่เห็นทั่วไปคือใช้เป็นชั้นสุดท้ายของบิลใบเสร็จรับเงิน
กระดาษแฟนซี (Fancy Paper)ถ้าพูดเป็นภาษาเข้าใจง่ายก็คือ เป็นกระดาษที่พิเศษ นิยมใช้เพื่อความแตกต่าง แปลกใหม่ และดูมีระดับ แต่มีราคาที่สูงมาก งานจำพวกนามบัตร หัวจดหมายที่ต้องการความสวยงาม จะใช้กระดาษแฟนซี (มีหลากหลายแบบ หลายขนาด และความหนา)
กระดาษสติ๊กเกอร์ (Sticker Paper)  หรือเรียกสั้นๆโดยเข้าใจง่ายว่า “สติ๊กเกอร์” เป็นกระดาษที่ด้านหลังเคลือบด้วยกาวเพื่อนำไปพิมพ์ภาพหรือตัวอักษรแล้วนำไป ติดบนวัตถุอื่นก่อนใช้งานจะมีกระดาษรองด้านล่าง โดยสติ๊กเกอร์จะมีหลายแบบ เช่น สติ๊กเกอร์กระดาษขาวเงา สติ๊กเกอร์เนื้อ PVC นิยมใช้พิมพ์ เป็นฉลากสำหรับติดกับตัวสินค้า
กระดาษน้ำตาล (Kraft Paper)  กระดาษน้ำตาลใช้สำหรับพิมพ์บรรจุภัณฑ์กระดาษห่อของ ถุงกระดาษหรือที่เห็นบ่อยๆก็คือหน้าปกใบแรกของแบบฟอร์มใบเสร็จ  มีความหนาอยู่ระหว่าง 80 – 180 แกรม เป็นกระดาษที่มีราคาไม่สูงนักเมื่อเทียบกับคุณภาพ
กระดาษอาร์ต (Art Paper) กระดาษอาร์ตมีสีขาว มีความหนาระหว่าง 80 – 160 แกรม ใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องการความสวยงาม งานพิมพ์สอดสี เช่นแคตตาล็อก โบร์ชัวร์ ฯลฯ กระดาษอาร์ตเป็นกระดาษชนิดหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสูงในวงการพิมพ์และโฆษณาของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะสังเกตดีๆ นิตยสารเกือบทั้งหมดจะใช้กระดาษอาร์ตทั้งสั้น
กระดาษเอ็นซีอาร์หรือกระดาษเคมี (Carbonless Paper)  เป็นกระดาษที่นิยมใช้สำหรับพิมพ์แบบฟอร์ม หรือบิลใบเสร็จรับเงินที่ใช้ในสำนักงาน (บิลใบเสร็จของพวกบริษัท ห้างร้านทั่วไป) ลักษณะพิเศษคือ สามารถเขียนบนใบแรกแล้วใบที่สองที่อยู่ด้านล่างก็เขียนติดด้วย ภาษาชาวบ้านก็คือ กระดาษก๊อปปี้
ขนาดของกระดาษในวงการโรงพิมพ์
กระดาษในวงการพิมพ์นั้น โดยลักษณะคือ จะเป็นกระดาษขนาดใหญ่ที่ผ่านกรรมวิธีผลิตมาจากโรงงานผลิตกระดาษ ไม่ใช่ขนาดเล็กๆที่เราเห็นตามท้องตลาด หรือตามร้านซี-ร็อกซ์ทั่วไป ขนาดหลักๆมีดังนี้
24×35 นิ้ว
25×35 นิ้ว
และ ขนาดที่ใหญ่ที่สุดก็คือ 31×43 นิ้ว
คำถามก็คือ ทำไมถึงต้องมี 3 sizes หลักๆนี้ด้วย ถ้าพูดแบบภาษาโรงพิมพ์ ก็คือจะเหมาะกับ ขนาดหน้างานของเครื่องพิมพ์มากกว่า และสามารถ นำมาซอยเป็นขนาดมาตรฐานงานทั่วไป ได้ง่ายกว่า เช่นงานที่นิยมทั่วไป อย่าง สมุดขนาด A3,A4 หรือ A5 เป็นต้น

<<กลับหน้าแรกโรงพิมพ์>>